ข่าวทั่วไทย
น่าขนลุก!!! เปิดบ้านขุนพิทักษ์ฯ จ. อยุธยา ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ไขปริศนา ทำไมไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่ง !
05:13เป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยาหลังใหญ่มีอายุมากกว่า 100 ปี สถาปัตยกรรมเป็นบ้านไทยที่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตกตั้งอยู่ริมแม่นํ้าน้อย พื้นที่หมู่ 2 ต.อมฤต อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าของยกให้กับทางราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.2505
ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม และเป็นทรัพย์สินทางราชการโดยสำนักงานกรมธนารักษ์พื้นที่พระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ดูแล ความเป็นมาของบ้านขุนพิทักษ์บริหาร ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) และนางกระจ่าง ภรรยา เป็นเจ้าของบ้าน โดยขุนพิทักษ์ฯ รับราชการเป็นนายแขวงเสนาใหญ่ คือ อ.ผักไห่ ในปัจจุบัน เคยเข้ารับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วย
และยังเป็นเจ้าของกิจการเรือสองชั้นที่เรียกว่าเรือเขียว ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่มีจำนวน 10 กว่าลำ ที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในแม่นํ้าน้อย ระหว่างผักไห่-ท่าเตียน กรุงเทพฯ และ ผักไห่-ปากนํ้าโพ จ.นครสวรรค์ จึงทำให้การค้าขายบริเวณนี้ เจริญรุ่งเรือง เมื่อมีการทำประตูทดน้ำในแม่น้ำเรือจึงไม่สามารถแล่นได้ ประกอบกับถนนหนทางเจริญขึ้นกิจการเดินเรือจึงเลิกไป
บ้านเขียวปลูกบนเนื้อที่ 1 ไร่ 72 ตารางวา เป็นบ้านทรงปั้นหยาสองชั้นยกพื้นสูง ปลูกสร้างด้วยไม้สัก บางส่วนเป็นตึก ทาสีเขียวทั้งหลัง เนื่องจากขุนพิทักษ์เกิดวันพุธ หลังคามุงกระเบื้องสีนํ้าตาลเข้ม สภาพภายในยังแข็งแรงแต่สภาพภายนอกทรุดโทรม ประตูหน้าต่างมีลวดลายแกะสลักอย่างปราณีตบรรจง พื้นเป็นกระดานไม้สักแผ่นใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามในสมัยนั้น
ชั้นล่างมีห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง มีตู้ไม้สัก 3 หลัง ห้องเล็ก 2 ห้อง ในห้องเล็กใกล้ระเบียงหลังบ้าน มีตู้เหล็กนิรภัย สูงถึง 1 เมตร ปิดล็อคไว้ และห้องใต้บันไดอีก 1 ห้อง ส่วนชั้นบนมีห้องโถง 1 ห้อง ห้องเล็ก 3 ห้อง และห้องซอยด้านหลังอีก 1 ห้อง ในห้องเล็กที่ใกล้กับทางลงมีห้องแยกออกไปอีก เป็นห้องที่ใช้ประตูเดียวกับห้องแรก ภายในห้องแยกมีห่วงเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางเหล็ก 1 นิ้วตรึงอยู่กับพื้นมุมห้อง ใช้สำหรับล็อกโซ่ล่ามกำปั่นสมบัติ
หน้าต่างและประตูใช้กลอนไม้แบบโบราณ ด้านหน้ามีสะพานไม้เชื่อมไปที่ศาลาใหญ่ริมแม่น้ำ และเรือนพักคนรับใช้หลังเล็ก (นายฟื้น ผู้ดูแลบ้านคนสุดท้ายมีอาชีพทำขนมจีนขาย ได้เสียชีวิตที่เรือนหลังเล็กนี้ หลังจากนายฟื้นเสียชีวิต นางวาสน์ซึ่งเป็นภรรยานายฟื้นและเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ได้ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา และไม่มีใครพบอีกเลย
ส่วนเรือนหลังใหญ่ไม่ปรากฏว่า เคยมีผู้เสียชีวิตในเรือน แม้แต่ขุนพิทักษ์ฯเมื่อชราภาพใกล้สิ้นอายุขัย ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับบ้านทางเรือ และสิ้นชีวิตในเรือระหว่างเดินทาง
หลังจากขุนพิทักษ์ฯสิ้นชีวิต ลูกหลานได้ย้ายไปอยู่ภูมิลำเนาอื่น ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ แม่จ่างภรรยาท่านขุนจึงได้ยกบ้านให้หลวง เป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เมื่อ พ.ศ.2505 โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบเข็มชั้นเครื่องหมายทองประดับเพชรให้กับนางจ่างด้วย
ด้านชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่าทุกครั้งที่เข้าไปในบ้านจะมีความรู้สึกว่ามีคนแอบมองและเดินตามวนเวียนไปมาอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเวลากลางคืนจะมีความรู้สึกลักษณะนี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครโดนหลอกในลักษณะให้หวาดกลัว นอกจากการทำให้รู้ว่าบ้านมีเจ้าของดูแลอยู่เท่านั้น ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยบอกว่าเคยเห็นขุนพิทักษ์บริหารอยู่กับบริวารภายในบ้านทั้งกลางวัน และกลางคืน แต่งกายในชุดคนโบราณ และในบ้านจะมีความคึกคัก เนื่องจากมีคนอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง
แต่ถึงกระนั้น ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญาติพี่น้องขุนพิทักษ์ฯไม่เชื่อว่าบ้านหลังนี้จะมีภูติผีปีศาจ เพราะไม่ปรากฏว่าเคยมีผู้เสียชีวิตในเรือนท่านขุน และท่านขุนเป็นคนใจดี ไม่มีศัตรู ทอดกฐินทุกปี ทำประโยชน์เอาไว้มาก
ทีมา http://www.naarn.com/8378/
0 comments